วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาไทยกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

ภูมิปัญญาไทยกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
               ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ความสามารถของคนไทยที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ซึ่งได้ผ่านการเลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนาและสืบทอดต่อๆกันมา เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา
ในการดำรงชีวิตของคนไทย ส่งผลที่ให้มีชีวิตที่ดี มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัย

ความสำคัญของภูมิปัญญาไทยต่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
               ทุกชุมชนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทั้งประเพณี วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวได้ดำเนินขึ้นและสืบทอดโดยคนรุ่นก่อนในชุมชน มีการสั่งสมภูมิปัญญาด้านต่างๆ และผ่านการพัฒนาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในชุมชน เช่น การแต่งกาย
การรับประทานอาหาร การสร้างบ้านเรือน รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพและการบำบัดโรค ซึ่งผ่านการลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นปัญญาในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคของชุมชน ตัวอย่างเช่น
การรับประทานผักเพื่อบำรุงร่างกาย การรักษาโรคด้วยสุมนไพร การนวดไทยเพื่อบำบัด บรรเทาการเจ็บป่วย การประคบสมุนไพรรักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เป็นต้น
               ภูมิปัญญาไทยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพในเรื่องของการบำบัด บรรเทา รักษาป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง นอกจากภูมิปัญญาทางการแพทย์ของคนไทยจะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีแล้วยังช่วยลดปัญหาสาธารณสุขของประเทศชาติได้ โดยช่วยรัฐบาลลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลดการนำเข้ายารักษาโรค เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศที่เกินความจำเป็นให้ลดน้อยลง ซึ่งผลดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนไทยในชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ รู้จักประยุกต์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาดูแลสุขภาพ รวมถึงการพึ่งพาภูมิปัญญาของแพทย์ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ มาใช้ใน
การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 แนวทางการใช้ภูมิปัญญาไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
               การแพทย์แผนไทย (Thai traditional medicine) หมายถึง กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา (พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งผลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542)
               การแพทย์แผนไทยเป็นภูมิปัญญาไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเองได้ เช่น

                1.การนวดไทย
               เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าในการรักษาโรค การสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนไทย
 ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยที่แสดงถึงการดูแลสุขภาพกันภายในครอบรัว เช่น ภรรยานวดให้สามี ลูกนวดให้ปู่ย่าตายาย โดยอวัยวะต่างๆ เช่น ศอก เข่า เท้า นวดให้กัน อีกทั้งยังมีการพัฒนาโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการนวด เช่น ไม้กดท้อง นมสาว
              
               การนวดไทย แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ 
                    1.การนวดแบบราชสำนัก
                    2.การนวดแบบเชลยศักดิ์ 
               ประโยชน์ของการนวดไทยมีผลดีต่อสุขภาพในหลายๆด้าน เช่น การกระตุ้นระบบประสาท
เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง
ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ

                2.การประคบสมุนไพร
               เป็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์แผนไทยที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษมาช้านาน โดยมีการใช้สมุนไพรห่อด้วยผ้าเป็นลูก เรียกว่า ลูกประคบ นำลูกประคบไปนึ่งให้ร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย เคล็ด ขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบส่วนใหญ่นั้น จะมันน้ำมันหอมระเหย เมื่อนึ่งให้ร้อนแล้วแล้วน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นตัวยาจะออกมากับไอน้ำและความชื้น และเมื่อประคบตัวยาเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวหนัง ช่วยรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก ลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ นอกจากนี้ความร้อนจากลูกประคบยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียน
ของเลือด ช่วยให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น อีกทั้งกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้คลายเครียด
เกิดความสดชื่นอีกด้วย

                3. น้ำสมุนไพร
               ผักพื้นบ้านและอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารและน้ำดื่มนอกจากจะช่วยให้ร่างกายเจริญเติมโตแข็งแรงอยูในภาวะปกติแล้ว อาหารและน้ำสมุนไพรบางชนิดที่นิยมรับประทานกันอยู่ในปัจจุบันยังช่วยรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆได้อีกด้วย ซึ่งเกิดจากความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษ ที่ได้คิดปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าบำรุงร่างกาย โดยผ่านการผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยได้อย่างกลมกลืน เช่น น้ำขิงช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ น้ำใบบัวบกแก้ร้อนใน กระหายน้ำ น้ำมะพร้าวช่วยขับปัสสาวะ ลดไข้ ทำให้สดชื่น ส่วนผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรไทยที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงในอาหารไทยมีสรรพคุณในการบำรุงรักษาร่างกายได้อย่างดี เช่น ในโหระพารสเผ็ดร้อนแก้เป็นลม วิงเวียน ตะไคร้แก้ปวดท้อง ลดความดันเลือด มะนาวมีรสเปรี้ยวป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันฟักทองมีเบต้าแคโรทีนสูงช่วยบำรุงร่างกาย และมะขามใช้เป็นยาระบาย แก้โรคบิด เป็นต้น

                4.การทำสมาธิ สวดมนต์ และภาวนาเพื่อการรักษาโรค
               เป็นวิถีชีวิตและความเชื่อ ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา จัดว่าเป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสุขภาพทางใจ เพราะการทำสมาธิสวดมนต์และภาวนาช่วยให้จิตใจที่สับสนและว่าวุ้นเกิดความสงบ มีความสุข ผ่อนคลายความเครียดมีสมาธิและเกิดปัญญา ในปัจจุบันมีการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การสวดมนต์ ภาวนา และการทำสมาธิช่วยให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง ส่งผลดีต่อปอด ระบบการหายใจ นอกจากนี้การนั่งสมาธินานๆ จะคลายความวิตกกังวล ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง

                5.กายบริหารแบบไทย หรือกายบริหารท่าฤาษีดัดตน 
               เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นจากการสืบทอดบอกเล่าต่อๆกันมาของนักบวช นักพรต พระสงฆ์ หรือชาวพุทธที่นิยมนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีความแตกต่างกับท่าโยคะของอินเดีย โดยเป็นท่าที่ไม่ผาดโผน หรือฝืนร่างกายจนเกินไป บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ และเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องจะช่วยรักษาอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การเคลื่อนไหวของแขน ขา หรือข้อต่อต่างๆ
เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี สร้างสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด และเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจ



วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ตอนที่ 1 กระบวนการสร้างเสริม และดำรงประสิทธิภาพ การทำงานของระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ และระบบต่อมไร้ท่อ

          อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของคนเราทำงานสัมพันธ์กันเป็นระบบ ทุกระบบต่างมีความสำคัญต่อร่างกาย หากระบบใดทำงานผิดปกติก็จะส่งผลกระทบต่อระบบอื่นๆด้วย เราจึงควรรู้จักป้องกัน บำรุงรักษาอวัยวะต่าง ๆ ในทุกระบบ ให้ทำงานได้ตามปกติอยู่เสมอ

1.1 ความสำคัญ และหลักการของกระบวนการสร้างเสริม และดำรงประสิทธิภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

          ร่างกายประกอบด้วยเซลล์ต่างๆรวมกันเป็นเนื้อเยื่อ เนื้อเยื่อร่วมทำหน้าที่เรียกว่าอวัยวะและประสานกันเป็นระบบจนเป็นร่างกาย

แนวทางการปฏิบัติ มีดังนี้
1. รักษาอนามัยส่วนบุคคล ได้แก่ อาบน้ำให้สะอาด สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่อับชื้น
2. บริโภคอาหารให้ถูกต้องและเหมาะสม ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่พอเหมาะ
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
5. ทำจิตใจให้ร่าเริงอยู่เสมอ
6. หลีกเลี่ยงอบายมุขและสิ่งเสพติดให้โทษ
7. ตรวจเช็คร่างกาย


1.2 ระบบประสาท         
          ระบบประสาท คือ ระบบที่ประกอบด้วยสมอง ไขสันหลัง และเส้นประสาททั่วร่างกาย ซึ่งจะทำหน้าที่ร่วมกันในการควบคุมการทำงานและการรับความรู้สึกของอวัยวะทุกส่วน รวมถึงความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ และความทรงจำต่าง ๆ


1.2.1 องค์ประกอบของระบบประสาท

แบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ

1. ระบบประสาทส่วนกลาง
ประกอบด้วยสมองและไขสันหลัง ซึ่งเป็นศูนย์กลางควบคุมและประสานการทำงานของร่างกายทั้งหมด


สมอง เป็นอวัยวะที่สำคัญและมีขนาดใหญ่กว่าส่วนอื่นในระบบประสาท บรรจุอยู่ในกะโหลกศีรษะ แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ เกรย์ แมตเตอร์ ซึ่งเป็นที่รวมของเซลล์ประสาท และแอกซอนชนิดไม่มีเยื่อหุ้ม ส่วนชั้นในมีสีขาว เรียกว่า ไวท์ แมตเตอร์ เป็นส่วนของใยประสาทที่ออกจากเซลล์ประสาท

สมองประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ สมองส่วนหน้า สมองส่วนกลาง และสมองส่วนท้าย

1. สมองส่วนหน้า
  • ซีรีบรัม  อยู่ส่วนหน้าสุดที่มีขนาดใหญ่สุด เกี่ยวกับด้านความจำความนึกคิด เป็นศูนย์กลางควบคุมการทำงานของส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่อยู่ใต้อำนาจจิตใจ
  • ทาลามัส อยู่ด้านหน้าของสมองส่วนกลาง ทำหน้าที่ถ่ายทอดกระแสประสาทที่รับความรู้สึก
  • ไฮโพทาลามัส  อยู่ใต้ส่วนทาลามัส อยู่ด้านล่างสุดของสมองส่วนหน้า ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจและควบคุมความรู้สึกต่างๆ
2. สมองส่วนกลาง
  • ต่อจากสมองส่วนหน้า ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของลูกตาและม่านตา
3. สมองส่วนท้าย
  • ซีรีเบลลัม อยู่ใต้ส่วนล่างของซีรีบรัม ดูแลการทำงานขอส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และระบบกล้ามเนื้อต่างๆ ควบคุมการทรงตัว
  • พอนส์ เป็นส่วนของก้านสมองที่อยู่ด้านหน้าของซีรีเบลลัมติดกับสมองส่วนกลาง ควบคุมการเคี้ยวอาหารและการหลั่งน้ำลาย การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อใบหน้า การหายใจ และการฟัง
  • เมดัลลา ออบลองกาตา สมองส่วนสุดท้าย ตอนปลายต่อกับไขสันหลัง เป็นทางผ่านของกระแสประสาท(สมองกับไขสันหลัง) ควบคุมการเต้นของหัวใจ การหายใจ การหมุนเวียนเลือด และการไอ การจาม
ไขสันหลัง เป็นส่วนที่ต่อจากสมองลงไปตามแนวช่องกระดูกสันหลัง มีความยาวประมาน 2 ใน 3 ของความยาวของกระดูกสันหลัง

2. ระบบประสาทส่วนปลาย
          ทำหน้าที่นำความรู้สึกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายไปยังอวัยวะปฏิบัติงาน

1) เส้นประสาทสมอง 12 คู่
2) เส้นประสาทไขสันหลัง 31 คู่
3) ประสาทระบบอัตโนมัติ ควบคุมการทำงานของอวัยวะที่อยู่นอกอำนาจของจิตใจโดยไม่รู้สึกตัว

1.2.2 การทำงานของระบบประสาท         
          ระบบประสาทเป็นระบบที่ทำงานประสานกันกับระบบกล้ามเนื้อ นอกจากนั้นยังรับกระแสประสาทจากอวัยวะภายในต่าง ๆ และส่งกลับไปควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด อัตราการเต้นของหัวใจ
การย่อยอาหาร และระบบอื่น ๆ ให้ทำงานตามปกติ

1.2.3 การบำรุงรักษาระบบประสาท
1. ระวังไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนบริเวณศีรษะ
2. ระมัดระวังไม่ให้เกิดโรคทางสมอง
3. หลีกเลี่ยงยาที่ส่งผลกระทบต่อสมอง
4. หาทางผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีต่าง ๆ
5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

1.3 ระบบสืบพันธุ์
          ระบบสืบพันธุ์ เป็นระบบที่เกี่ยวกับการเพิ่มจำนวนของประชากร ทดแทนสิ่งที่มีชีวิตรุ่นเก่าที่ตายไป เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ไว้ได้

1.3.1 อวัยวะสืบพันธุ์เพศชาย

                                          
                 
1. อัณฑะ สร้างอสุจิและฮอร์โมนเพศชาย (เทสโทสเตอโรน)
2. ถุงหุ้มอัณฑะ
3. หลอดเก็บตัวอสุจิ
4. หลอดนำตัวอสุจิ
5. ต่อมสร้างน้ำเลี้ยงอสุจิ
6. ต่อมลูกหมาก ทายฤทธิ์กรดในท่อปัสสาวะ
7. ต่อมคาวเปอร์  หลั่งสารหล่อลื่น

 1.3.2 อวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิง

1. รังไข่ 
     1) ผลิตไข่
     2) สร้างฮอร์โมนเพศญิง (เอสโทรเจนและโพรเจสเทอโรน)
2. ท่อนำไข่ หรือปีกมดลูก เป็นทางผ่านของไข่จากรังไข่เข้าสู่มดลูก
3. มดลูก เป็นที่ฝังตัวของไข่ที่ได้รับการผสมแล้ว และเป็นที่เจริญเติบโตขอตัวอ่อน
4. ช่องคลอด

1.3.3 การบำรุงรักษาระบบสืบพันธุ์
1. ดูแลร่างกายให้แข็งแรงอย่างสม่ำเสมอ
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. งดเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
4. พักผ่อนให้เพียงพอ
5. ทำความสะอาดร่างกายอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ
6. สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น
7. ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น
8. ไม่สำส่อนทางเพศ
9. เมื่อเกิดสิ่งผิดปกติใด ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์


1.4 ระบบต่อมไร้ท่อ         
          ระบบต่อมไร้ท่อ เป็นระบบที่ผลิตสารรียกว่า "ฮอร์โมน" เป็นต่อมที่ไม่มีท่อหรือรูเปิด จึงลำเลียงสารผ่านทางกระแสเลือดไปสู่อวัยวะเป้าหมาย



1.4.1 ต่อมไร้ท่อในร่างกาย
1. ต่อมใต้สมอง สร้างฮอร์โมนควบคุมการเจริญเติบโต และการบีบตัวของมดลูกขณะคลอดบุตร
2. ต่อมหมวกไต สร้างฮอร์โมนอะดินาลิน, ควบคุมการเผาผลาญอาหาร และควบคุมการดูดซึมเกลือที่ไต
3. ต่อมไทรอยด์ ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกายให้เป็นไปได้อย่างเหมาะสม
4. ต่อมพาราไทรอยด์ ควบคุมปริมาณแคลเซียมในเลือดและรักษาความเป็นกรดดด่างในร่างกาย
5. ต่อมที่อยู่ในตับอ่อน สร้างอินซูลินซึ่งควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด
6. รังไข่และอัณฑะ สร้างฮอร์โมนเพศ
7. ต่อมไทมัส  ควบคุมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

1.4.2 การบำรุงรักษาต่อมไร้ท่อ
1. เลือกรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่
2. ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ
3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
4. ลดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
5. หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อระบบต่อมไร้ท่อ
6. พักผ่อนให้เพียงพอ