วันเสาร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ภูมิปัญญาไทยกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค

ภูมิปัญญาไทยกับการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค
               ภูมิปัญญาไทย หมายถึง องค์ความรู้ความสามารถของคนไทยที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ซึ่งได้ผ่านการเลือกสรร ปรุงแต่ง พัฒนาและสืบทอดต่อๆกันมา เพื่อใช้ในการแก้ปัญหา
ในการดำรงชีวิตของคนไทย ส่งผลที่ให้มีชีวิตที่ดี มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและยุคสมัย

ความสำคัญของภูมิปัญญาไทยต่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
               ทุกชุมชนมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ทั้งประเพณี วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตซึ่งเอกลักษณ์ดังกล่าวได้ดำเนินขึ้นและสืบทอดโดยคนรุ่นก่อนในชุมชน มีการสั่งสมภูมิปัญญาด้านต่างๆ และผ่านการพัฒนาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิต สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในชุมชน เช่น การแต่งกาย
การรับประทานอาหาร การสร้างบ้านเรือน รวมถึงการดูแลรักษาสุขภาพและการบำบัดโรค ซึ่งผ่านการลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นปัญญาในการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคของชุมชน ตัวอย่างเช่น
การรับประทานผักเพื่อบำรุงร่างกาย การรักษาโรคด้วยสุมนไพร การนวดไทยเพื่อบำบัด บรรเทาการเจ็บป่วย การประคบสมุนไพรรักษาอาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก เป็นต้น
               ภูมิปัญญาไทยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพในเรื่องของการบำบัด บรรเทา รักษาป้องกันโรคและการสร้างเสริมสุขภาพในชุมชน ให้มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง นอกจากภูมิปัญญาทางการแพทย์ของคนไทยจะช่วยส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดีแล้วยังช่วยลดปัญหาสาธารณสุขของประเทศชาติได้ โดยช่วยรัฐบาลลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ลดการนำเข้ายารักษาโรค เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีทางการแพทย์จากต่างประเทศที่เกินความจำเป็นให้ลดน้อยลง ซึ่งผลดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อคนไทยในชุมชนหรือท้องถิ่นต่างๆ รู้จักประยุกต์ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนของตนเองมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการรักษาดูแลสุขภาพ รวมถึงการพึ่งพาภูมิปัญญาของแพทย์ที่ถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ มาใช้ใน
การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 แนวทางการใช้ภูมิปัญญาไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
               การแพทย์แผนไทย (Thai traditional medicine) หมายถึง กระบวนการทางการแพทย์เกี่ยวกับการตรวจ วินิจฉัย บำบัด รักษา หรือป้องกันโรค หรือการส่งเสริมและฟื้นฟูสภาพของมนุษย์หรือสัตว์ การผดุงครรภ์และเครื่องมือทางการแพทย์ ทั้งนี้ โดยอาศัยความรู้หรือตำราที่ได้ถ่ายทอดและสืบต่อกันมา (พระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งผลภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542)
               การแพทย์แผนไทยเป็นภูมิปัญญาไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชนที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชุมชนของตนเองได้ เช่น

                1.การนวดไทย
               เป็นภูมิปัญญาอันล้ำค่าในการรักษาโรค การสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนไทย
 ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยที่แสดงถึงการดูแลสุขภาพกันภายในครอบรัว เช่น ภรรยานวดให้สามี ลูกนวดให้ปู่ย่าตายาย โดยอวัยวะต่างๆ เช่น ศอก เข่า เท้า นวดให้กัน อีกทั้งยังมีการพัฒนาโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการนวด เช่น ไม้กดท้อง นมสาว
              
               การนวดไทย แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ 
                    1.การนวดแบบราชสำนัก
                    2.การนวดแบบเชลยศักดิ์ 
               ประโยชน์ของการนวดไทยมีผลดีต่อสุขภาพในหลายๆด้าน เช่น การกระตุ้นระบบประสาท
เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง
ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ

                2.การประคบสมุนไพร
               เป็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์แผนไทยที่มีการสืบทอดจากบรรพบุรุษมาช้านาน โดยมีการใช้สมุนไพรห่อด้วยผ้าเป็นลูก เรียกว่า ลูกประคบ นำลูกประคบไปนึ่งให้ร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย เคล็ด ขัดยอก จะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบส่วนใหญ่นั้น จะมันน้ำมันหอมระเหย เมื่อนึ่งให้ร้อนแล้วแล้วน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นตัวยาจะออกมากับไอน้ำและความชื้น และเมื่อประคบตัวยาเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวหนัง ช่วยรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก ลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ นอกจากนี้ความร้อนจากลูกประคบยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียน
ของเลือด ช่วยให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น อีกทั้งกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้คลายเครียด
เกิดความสดชื่นอีกด้วย

                3. น้ำสมุนไพร
               ผักพื้นบ้านและอาหารเพื่อสุขภาพ อาหารและน้ำดื่มนอกจากจะช่วยให้ร่างกายเจริญเติมโตแข็งแรงอยูในภาวะปกติแล้ว อาหารและน้ำสมุนไพรบางชนิดที่นิยมรับประทานกันอยู่ในปัจจุบันยังช่วยรักษาโรคและอาการเจ็บป่วยต่างๆได้อีกด้วย ซึ่งเกิดจากความเฉลียวฉลาดของบรรพบุรุษ ที่ได้คิดปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่มที่มีคุณค่าบำรุงร่างกาย โดยผ่านการผสมผสานองค์ความรู้ต่างๆ เข้ากับวิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยได้อย่างกลมกลืน เช่น น้ำขิงช่วยขับลม แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ น้ำใบบัวบกแก้ร้อนใน กระหายน้ำ น้ำมะพร้าวช่วยขับปัสสาวะ ลดไข้ ทำให้สดชื่น ส่วนผักพื้นบ้านและพืชสมุนไพรไทยที่เป็นส่วนประกอบของเครื่องแกงในอาหารไทยมีสรรพคุณในการบำรุงรักษาร่างกายได้อย่างดี เช่น ในโหระพารสเผ็ดร้อนแก้เป็นลม วิงเวียน ตะไคร้แก้ปวดท้อง ลดความดันเลือด มะนาวมีรสเปรี้ยวป้องกันโรคเลือดออกตามไรฟันฟักทองมีเบต้าแคโรทีนสูงช่วยบำรุงร่างกาย และมะขามใช้เป็นยาระบาย แก้โรคบิด เป็นต้น

                4.การทำสมาธิ สวดมนต์ และภาวนาเพื่อการรักษาโรค
               เป็นวิถีชีวิตและความเชื่อ ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา จัดว่าเป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสุขภาพทางใจ เพราะการทำสมาธิสวดมนต์และภาวนาช่วยให้จิตใจที่สับสนและว่าวุ้นเกิดความสงบ มีความสุข ผ่อนคลายความเครียดมีสมาธิและเกิดปัญญา ในปัจจุบันมีการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การสวดมนต์ ภาวนา และการทำสมาธิช่วยให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง ส่งผลดีต่อปอด ระบบการหายใจ นอกจากนี้การนั่งสมาธินานๆ จะคลายความวิตกกังวล ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง

                5.กายบริหารแบบไทย หรือกายบริหารท่าฤาษีดัดตน 
               เป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นจากการสืบทอดบอกเล่าต่อๆกันมาของนักบวช นักพรต พระสงฆ์ หรือชาวพุทธที่นิยมนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีความแตกต่างกับท่าโยคะของอินเดีย โดยเป็นท่าที่ไม่ผาดโผน หรือฝืนร่างกายจนเกินไป บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ และเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องจะช่วยรักษาอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การเคลื่อนไหวของแขน ขา หรือข้อต่อต่างๆ
เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี สร้างสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด และเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น